Pattaya City

พิธีเปิดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 3 “TOD คมนาคมสร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้”

พิธีเปิดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 3 “TOD คมนาคมสร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้”

วันนี้(2 เม.ย.62)เวลา 10.00 น. นายสุธรรม เพ็ชรเกตุ รองปลัดเมืองพัทยา กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของโครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 3 “TOD คมนาคมสร้างเมือง เมืองสร้างสุข สุขสร้างได้” โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยมีดร.ชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ พร้อมกล่าวปาฐกถา ซึ่งป็นการแนะนำและบอกเล่าภาพรวมของโครงการฯ เพื่อระดมความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุนและภาคประชาชน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเมือง เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ทั้งทางบก ทางรางและทางอากาศ ตามแนวคิด TOD (Transit Oriented Development) ให้สัมฤทธิ์ผลต่อไป ซึ่งมีนางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกสายงานนโยบายและแผน นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ ประธานกรรมการบริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัด รศ. ดร. ยงธนิศร์ พิมลเสถียร์ ผู้จัดการโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี นายวรพต พงษ์พาลี ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมและรับฟังการเสวนา ณ โรงแรมรอยัลคลิฟ แกรนด์ โฮเต็ล

ดร. ชยธรรม์ พรหมศร กล่าวว่า แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย (พ. ศ. 2558-2565) มุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทุกโครงข่าย ทั้งทางถนนทางราง ทางน้ำและทางอากาศ ให้เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว (Seamless Mobility) เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม เสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางครั้งใหญ่ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแกนหลักในการเดินทางและขนส่งของประเทศ และทำให้เกิดสถานีขนส่งหรือจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีศักยภาพการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) จึงเป็นหัวใจสำคัญ ในการชี้นำการพัฒนาเมืองชุมชนและสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กระจายความเจริญไปยังภูมิภาคตามแนวสายทาง ตลอดจนเอื้อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรม แหล่งงาน แหล่งที่พักอาศัย และกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม สร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาพื้นที่ ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนและการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตกับประชาชน

นอกจากนี้ภายในงานมีการจัดเสวนาเรื่อง “TOD ภาคตะวันออก ร่วมกันสร้างได้อย่างไร” โดยมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา ได้แก่ นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สายงานนโยบายและแผน แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด TOD ในพื้นที่ EEC นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ ประธานกรรมการบริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง จำกัดและนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มการพัฒนาเมือง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบ/พฤติกรรมการเดินทาง ความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน และบทบาทของบริษัทพัฒนาเมือง เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ความคาดหวังและความต้องการในการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร ผู้จัดการโครงการนำเสนอข้อมูลโครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ขอบเขตการศึกษา ความก้าวหน้าของโครงการ ประโยชน์ที่ท้องถิ่นจะได้รับ และความท้าทายของการพัฒนาเมืองตามแนวคิด TOD ในภูมิภาคและท้องถิ่น นอกจากนี้ภายในงานได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการ อาทิแนวคิดการพัฒนา TOD ให้ประชาชนรู้จักว่า TOD คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร และประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนา TOD เป็นต้น

สำหรับโครงการนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองโดยรอบแนวโครงข่ายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่มีศักยภาพของประเทศเพื่อเป็นกรอบชี้นำการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบคมนาคมมีระยะเวลาศึกษา 18 เดือน ซึ่งนอกจากการสัมมนาครั้งนี้ สนข. ได้ดำเนินการจัดสัมมนาอีก 3 ครั้งใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือที่ จ. พิษณุโลกจัดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาและจะจัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ. ขอนแก่นในวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2562 และภาคใต้ที่ จ. สงขลา ในวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2562 และนอกจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ครั้งนี้ สนข. ยังได้จัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การประชุมกลุ่มย่อยการเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ และการสัมภาษณ์เชิงลึกต่อไป เพื่อรวบรวมข้อมูลมาประกอบผลการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง สถานีรถไฟทางคู่ ศูนย์คมนาคมขนส่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศต่อไป

ผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลหรือดูรายละเอียดโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ www. thailandtod.com

Last modified: 3 ¹ 2019