Pattaya City

ประวัติเมืองพัทยา

“เมืองพัทยา” แต่เดิมนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเขต ตำบลนาเกลือ  อำเภอบางละมุง  จังหวัดชลบุรี  อยู่ห่างจากตัวเมืองชลบุรีประมาณ 30 กิโลเมตร  มีลักษณะทางกายภาพแนวหาดพัทยาทอดตัวยาวขาวนวล  อยู่ในวงล้อมของโค้งอ่าวครึ่งวงกลม ตลอดแนวยาว 3  กิโลเมตร รวมกับนาจอมเทียนอีก 3 กิโลเมตร  “ด้วยมนต์เสน่ห์ของน้ำทะเลใสที่ส่งประกายระยิบระยับ เสียงคลื่นที่ซัดซ่าฝั่งดังเป็นจังหวะจะโคน ที่สามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศอันน่าประทับใจ” ต่อมาในปี 2499 ทางราชการได้จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลนาเกลือขึ้น ขณะนั้นหมู่บ้านชาวประมงพัทยายังอยู่นอกเขตสุขาภิบาล กระทั่งต่อมาในปี 2507 (47 ปีที่ผ่านมา) จึงได้มีการขยายอาณาเขต สุขาภิบาล จากตำบลนาเกลือไปจนถึงเขตพัทยาใต้ มีพื้นที่ในการปกครองประมาณ 22.2 ตารางกิโลเมตร

ประวัติศาสตร์เมืองพัทยา พุทธศักราช 2310

                หากจะย้อนกลับไปถึงความเกี่ยวข้องของเมืองพัทยากับประวัติศาสตร์ที่เล่าขานถึงตำนานอันเป็นที่มาของ “พัทยา” นั้นมีประวติเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญไว้ 2 กระแส กล่าวคือ

กระแสหนึ่งพูดถึงพัทยาในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยว่า ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในปี พ.ศ. 2310 ประมาณ 2 เดือน พระยาตาก(สิน) เจ้าเมืองตาก เมื่อครั้งพระนครศรีอยุธยาถูกพม่าล้อม ทรงนำกำลังพลประมาณ 500 นาย ตีแหวกวงล้อมของพม่า เพื่อมาตั้งหลักกันใหม่ ทรงเดินทางมาแวะพักทัพในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของ “เมืองพัทยา” ในปัจจุบัน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเมืองจันทบุรี และกลับไปต่อสู้ขับไล่ข้าศึกออกจากประเทศไทย หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2  พร้อมทั้งประกาศอิสรภาพ ทรงกอบกู้เอกราชของชาติมาได้ ภายในระยะเวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น ต่อมาท่านได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ผู้ก่อตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งที่ 3 ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ของประเทศไทย  ดังนั้น สถานที่บริเวณที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เดินทางมาแวะพักทัพนั้น ต่อมาชาวบ้านจึงได้เรียกขานกันว่า “ทัพพระยา”         

ส่วนอีกกระแส ได้กล่าวถึงตำนานไว้ว่า “พัทยา” ตรงบริเวณที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาแวะพักทัพ นั้น เป็นบริเวณที่มีทำเลดีและมีลมทะเลชนิดหนึ่งชื่อว่า “ ลมพัทธยา ” เป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้พัดผ่านเข้ามาที่นี่เป็นประจำทุกปีในตอนต้นฤดูฝน จึงได้เรียกสถานที่บริเวณนี้ว่า “หมู่บ้านพัทธยา” และต่อมาได้เรียกเป็น “พัทยา” ในที่สุด  

จากประวัติศาสตร์ สู่ตราสัญลักษณ์เมือง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการแวะมาพักทัพของ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ในคราวนั้น ประชาราษร์ชาวไทยและชาวพัทยาผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า “มหาราช” รัฐบาล ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ บริเวณหน้า “ศาลาว่าการเมืองพัทยา” เพื่อน้อมรำลึกในพระเกียรติประวัติ เกียรติยศและเกียรติคุณให้ปรากฏกับอนุชนรุ่นหลังตราบเท่าทุกวันนี้

จากประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญจึงเป็นที่มาของ “ตราสัญลักษณ์ประจำเมืองพัทยา” ซึ่งเป็น รูปทรงกลมสองวงซ้อนกัน ภายในวงกลมมีภาพทหารโบราณขี่ม้าอยู่บนหน้าผา ด้านหลังคนขี่ม้านั้นมีภาพชายหาด ทะเล และเกาะ

 

ความหมายของตราสัญลักษณ์

เครื่องหมายราชการเมืองพัทยา ภาพเป็นรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร ประกอบด้วยภาพนักรบของไทยสมัยโบราณ ซึ่งตีฝ่าทัพพม่าออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และพักทัพที่พัทยา และภาพชายหาดพัทยา ภาพในวงกลมมีอักษรภาษาไทยตอนบนว่า “เมืองพัทยา” และตอนล่างว่า “จังหวัดชลบุรี”

(ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๖๙ วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๓๐)

ประวัติศาสตร์เมืองพัทยา พุทธศักราช 2491

                ในปี พ.ศ. 2491 ได้มีการบุกเบิกพัฒนาที่ดินของเมืองพัทยา โดยได้มีบุคคลสำคัญ คือ คุณ ปริญญา ชวลิตธำรง ซึ่งท่านได้ซื้อที่ดินบุกเบิกและสร้างความเจริญให้กับเมืองพัทยา เมื่อท่านได้เล็งเห็นถึงมนต์เสน่ห์ของหาดทรายขาว น้ำทะเลใส ทัศนียภาพที่สวยสดงดงาม หาดทรงโค้งครึ่งวงกลม และคาดการณ์ถึงความเจริญในภายภาคหน้า จึงตัดสินใจซื้อที่ดิน ระหว่างบุกเบิกพัฒนา คุณ ปริญญา ชวลิตธำรง  ได้นำเสนอและขอร้องท่านนายอำเภอให้เปลี่ยนภาษาเขียน เพราะเห็นว่าการเขียนแบบเดิมนั้นไม่ทันสมัยและโบราณ โดยเปลี่ยนจาก “พัทธยา” นำ ธ.ธง ออก มาเป็นคำว่า “พัทยา” ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน

                ต่อมาภายหลังคุณ ปริญญา ชวลิตธำรง  ได้มอบที่ดินให้กับทางเมืองพัทยา จำนวน 10 ไร่ เพื่อเป็นที่ตั้งของศาลาว่าการ “เมืองพัทยา” ในปัจจุบัน (สมัยท่าน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีและท่านเป็นประธานวางศิลาฤกษ์) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2523 ตลอดจนมอบที่ดินเพื่อสร้างสาธาณะประโยชน์ ถนนพัทยา – นาเกลือ (เส้นสุขุมวิท ในปัจจุบัน) ความกว้าง   20 – 30 เมตร และท่านได้ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาเมืองพัทยา ถึง 5 วาระ

จุดเริ่มต้น.. “การพัฒนาเมืองพัทยา

ในสมัยก่อน เมื่อมีการซื้อขายที่ดิน ผู้ซื้อจะได้รับใบครอบครอง  ส.ค.  1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน เป็นหลักฐานแสดงการครอบครองที่ดิน) เพื่อการเข้ามาทำประโยชน์ และการพัฒนาที่ดิน จากนั้นจึงจะดำเนินการออกใบเอกสารสำคัญต่างๆ กันในภายหลัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาถนนหนทาง ระบบสาธาณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา ร่วมกันพัฒนากับหลายภาคส่วน พร้อมทั้งปรับภูมิทัศน์เพื่อให้เห็นทัศนียภาพที่สวยสดงดงามของชายหาดและน้ำทะเล

โดยถนนสายแรกในพัทยา คือ “ถนนสายพัทยา – นาเกลือ” เริ่มตั้งแต่ตลาดนาเกลือวิ่งตรงมาถึงชายทะเล (บริเวณโรงแรมดุสิต รีสอร์ท และโรงแรมอมารีฯ ในปัจจุบัน) แล้วเลี้ยวซ้ายเลียบชายทะเลมาถึงพัทยาใต้ ระหว่างทางด้านขวามือได้มีการตัดถนนไปลงชายทะเลด้วยเช่นกันโดยตัดเป็นซอย เช่น ซอยวงศ์อำมาตย์ ซอยชวลิตธำรง และ ซอยผิงผา (ตั้งชื่อซอยตามนามสกุล เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้มีส่วนในการพัฒนา บุกเบิกเมืองพัทยา) เป็นต้น ถนนซอยเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อให้เป็นทางเข้าไปยังบ้านพักตากอากาศ ซึ่งด้านหลังมักทำเป็นเหมือนบ้านพักตากอากาศที่ชายทะเลหัวหิน

 ก้าวแรก.. “เมืองพัทยาในฐานะเมืองท่องเที่ยว”

จุดเริ่มต้นของการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นผลมาจากการพัฒนา คือภายหลังจากที่ “ถนนสายพัทยา – นาเกลือ”  เสร็จได้ไม่นาน  มีนักหนังสือพิมพ์ “เพลินจิตต์“  และนักประพันธ์ชื่อดังมาเที่ยวพัทยาด้วยรถตู้ ได้เดินทางไปที่หาดแห่งหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันนี้คือที่ตั้งของ “โรงแรมดุสิต รีสอร์ท” ซึ่งทุกท่านเห็นแล้วชอบและประทับใจมาก ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอ่าวนี้ช่างสวยงาม” เมื่อกลับไปได้นำเรื่องราวของหาดพัทยาเขียนลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เพลินจิตต์  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักพัทยากันมากขึ้น” หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2498 เริ่มมีทัวร์พาคนกรุงเทพฯ  มาเที่ยวที่พัทยาคราวละ  30 – 40  คนบ้าง จนถึงปี พ.ศ.2515 ความสะดวก สบายของถนนหนทาง ทำให้คนสามารถเดินทางมาท่องเที่ยวโดยทางรถยนต์ และการเดินทางด้วยรถโดยสาร ที่สถานีขนส่งสายใต้ ใช้เวลาเดินทางมาถึง “พัทยา” ในเวลาไม่นาน  จนเมืองพัทยาได้ถูกนำบันทึกเรื่องราวและบรรยายบรรยากาศ ไปตีพิมพ์เผยแพร่ไว้ใน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับที่ 6 ปีที่ 12 เดือน มกราคม พ.ศ. 2515

ส่วนจุดเปลี่ยนอันเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติรู้จัก “เมืองพัทยา” เมื่อประมาณปี พ.ศ.  2502  กองทัพสหรัฐมีนายทหารอเมริกันหลายพันนาย ได้มาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานที่มั่นประจำการ เพื่อส่งกองกำลังทหารอเมริกันเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม ช่วงวันหยุดราชการทหารอเมริกันจะนั่งรถยี  เอ็ม  ซี  เดินทางเข้ามาพักผ่อนที่อ่าวพัทยา ช่วงนั้นพัทยายังเงียบสงบเมื่อเสร็จสิ้นการรบทหารอเมริกันได้กลับไป ชื่อเสียงของเมืองพัทยาก็เริ่มขจรไกลจากปากบรรดาจีไอไปสู่ชาวตะวันตกอื่นๆ  ต่อมาในช่วงปี  พ.ศ.  2520  นักท่องเที่ยวจากตะวันตกซึ่งเป็นชาวยุโรป  เริ่มเข้ามาท่องเที่ยว ทำให้เมืองพัทยาเติบโตขึ้นมาก  โรงแรมใหม่ๆ ก็ผุดขึ้นมามากขึ้นตามลำดับตั้งแต่พัทยาเหนือไปจนถึงพัทยากลางและพัทยาใต้  และขยับขยายต่อไปจนถึงหาดจอมเทียนซึ่งอยู่ถัดไปทางใต้  ในยุคสมัยหนึ่งพัทยารุ่งเรืองสุดขีดถึงกับได้รับการขนานนามว่าเป็น  ” ริเวียร่าแห่งเอเชีย” (มีความสวยงาม เทียบเท่าชายหาดของอิตาลี ชื่อว่า “อิตาลี ริเวียร่า” ทางฝั่งยุโรปได้ชื่อว่าอากาศดีมาก ติดอันดับเมืองท่องเที่ยว) เลยทีเดียว

ความเจริญรุดหน้า..สู่เขตปกครองพิเศษ

ภายหลังจาก “เมืองพัทยา” เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องของโครงสร้างของเมือง อัตราการเพิ่มของประชากร การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานและแรงงาน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และองค์ประกอบในด้านอื่นๆ ส่งผลให้การปกครองในรูปแบบสุขาภิบาลไม่สามารถบริหารงานและแก้ไขปัญหาของเมืองได้ทันท่วงที ประกอบกับรัฐบาลในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญของ “เมืองพัทยา” ตลอดจนเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้เสนอให้นำการปกครองรูปแบบพิเศษมาใช้ที่เมืองพัทยา เพื่อแก้ไขปัญหาและ เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสมั่นคงให้แก่เมืองพัทยาสืบต่อไป

เหตุผลในคำสั่งกระทรวงมหาดไทย  ที่  736/2519  ลงวันที่  3  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2519  ระบุว่า  เมืองพัทยานอกจากมีความเจริญในด้านวัตถุแล้ว  อัตราการถ่ายเทของประชากรในเมืองพัทยาก็อยู่ในระดับสูง  ไม่แน่นอนเหมือนกับท้องถิ่นทั่วไป  และพัทยาก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก  จากศักยภาพของเมืองพัทยาที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ  พัทยาจึงเป็นเมืองที่ได้รับการจับตามอง  และให้ความสำคัญในการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

                ก่อนเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ.  2521  พัทยามีฐานะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตการปกครองของสุขาภิบาลนาเกลือ  ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่  พ.ศ.  2499  แต่มีพื้นที่เฉพาะตำบลนาเกลือ  ประมาณ  22.2  ตารางกิโลเมตร แต่เนื่องจากพัทยาได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว  กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากทั้งจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ  หน่วยการปกครองที่เป็นสุขาภิบาลอยู่เดิม  ไม่อาจจะบริหารงานและให้บริการได้ทันกับความเจริญอย่างรวดเร็วและแก้ปัญหาต่างๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา  พ.ศ.  2521  ขึ้น  ด้วยผลแห่งพระราชบัญญัตินี้  เมื่อวันที่  29  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2521  จึงทำให้พัทยาเปลี่ยนจากการอยู่ในเขตการปกครองของสุขาภิบาลนาเกลือไปเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ  แบบมีผู้จัดการเมือง  (City Manager) เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบที่ 5 ของไทย และให้เมืองพัทยามีฐานะเทียบเท่าเทศบาลนคร

                การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของเมืองพัทยาดังกล่าว  มีความแตกต่างไปจากรูปแบบการปกครองท้องถิ่นอื่นๆ  ที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทย  มีลักษณะคล้ายกับรูปแบบการปกครองของเทศบาลรูปแบบสภาและผู้จัดการ  (Council and Manager Form) หรือผู้จัดการเทศบาล (City Manager) แบบเดียวกับของสหรัฐอเมริกา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าเป็นการนำเอาระบบบริหารรูปแบบผู้จัดการมาใช้บริหารเมืองพัทยานั่นเอง นับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยด้วย การที่ได้ทดลองเอารูปแบบผู้จัดการมาใช้กับเมืองพัทยาเช่นนี้ก็ด้วยตระหนักว่า เป็นท้องถิ่นที่อยู่ในเขตศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยว เขตอุตสาหกรรมและเขตท่าเรือน้ำลึก มีความเจริญและมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากท้องถิ่นอื่นเป็นอันมาก

 

Comments are closed.