ฉบับที่ 639/60 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2560
กรมควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม เลือกเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ชายหาดท่องเที่ยว เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และฟื้นฟูคุณภาพน้ำทะเล มุ่งสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอย่างยั่งยืน
(7 ก.ย.60) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่โรงแรมแกรนด์ พาลาสโซ่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายอนันต์ อังคณาวิศัลย์ ประธานสภาเมืองพัทยา นายอภิชาติ วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา และนายสุธรรม เพ็ชรเกตุ รองปลัดเมืองพัทยา ร่วมให้การต้อนรับ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนา เรื่อง “ประชารัฐร่วมใจ แก้ไขปัญหาน้ำเสีย(มลพิษ) ชายหาดท่องเที่ยว” โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และนายภัครธรณ ์เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นผู้กล่าวต้อนรับ พร้อมกันนี้มี พล.ต.ยุทธชัย เทียรทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 พร้อมด้วยรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 นายนริศ นิรามัยวงศ์ นายอำเภอบางละมุง พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการเมืองพัทยาที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน และประชาชนในชุมชนเขตเมืองพัทยา จำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วมในพิธีเปิดฯ พร้อมทั้งเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
สำหรับการจัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจาก ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาดของประเทศไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้มีการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้อย่างเพียงพอ มีการสร้างอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่และสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก แต่การพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้มีปัญหาด้านมลพิษต่างๆ ตามมาด้วย โดยเฉพาะด้านน้ำเสียและขยะมูลฝอยที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคของนักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัย และสถานประกอบการ ในขณะที่ระบบการจัดการมลพิษเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอ ทำให้มีการระบายน้ำเสียลงชายหาดและทะเล เป็นผลให้คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณชายหาดท่องเที่ยวหลายแห่งมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง และมีปัญหาการปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม นอกจากนี้ยังพบว่ามีการลอบทิ้งขยะมูลฝอยตามชายหาดและลงทะเล ซึ่งเป็นผลให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมของชายหาดและทะเลเสื่อมโทรมมากขึ้น นอกจากปัจจัยด้านการท่องเที่ยวแล้ว รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมให้ 3 จังหวัดภาคตะวันออก พัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ซึ่งจะมีการพัฒนาเมือง การขยายโครงข่ายด้านธุรกิจ การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ รวมทั้งสาธารณูปโภคอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกมีการขยายตัวของชุมชนและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันจัดการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสม และสามารถสนับสนุนการรองรับการพัฒนาดังกล่าวได้
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จึงได้จัดงาน “ประชารัฐร่วมใจ แก้ไขปัญหาน้ำเสีย ชายหาดท่องเที่ยว” โดยอาศัยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างภาครัฐ-เอกชน และประชาชน รวมถึงการสนับสนุนจากกองทัพ ดำเนินกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การให้คำแนะนำแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมกับแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าข่ายต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจ การมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำเสียและขยะมูลฝอยจากกิจกรรมของตนเอง โดยได้คัดเลือกให้เมืองพัทยา จังหวัดชลบุร ีเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียชายหาดท่องเที่ยว เนื่องจากเมืองพัทยาเป็นเขตควบคุมมลพิษ และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ประกอบกับปัจจุบันเมืองพัทยามีจำนวนสถานประกอบการ หรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดน้ำเสียและขยะมูลฝอย จำนวน 1,047 แห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเจ้าของแหล่งกำเนิดมลพิษ ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว มีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการรักษาและฟื้นฟูคุณภาพน้ำทะเลในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว ให้กลับมาใสสะอาด เอื้อต่อการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอย่างยั่งยืนต่อไป..
ภาพ : นายสมประสงค์ โภชน์พันธ์
ข่าว : นางสาวขวัญใจ ซื่อตรง
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่
ส่วนอำนวยการ สำนักส่งเสริมการท่องเที่ยว
Last modified: 8 กันยายน 2017