Pattaya City

กฟภ. เดินหน้าโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1

กฟภ. เดินหน้าโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 เวลา 13.30 น. พลเรือเอก ศรีวิสุทธิ์ รตารุณ รองประธานสภา      เมืองพัทยา เป็นประธานประชุมโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 (เมืองพัทยา) ครั้งที่ 3 โดยมีนายสุนทร สมประมัย ผู้อำนวยการสำนักการช่าง นายอนุวัตร ทองคำ ผู้อำนวยการส่วนจราจรและขนส่ง คณะกรรมการโยธาและสาธารณูปโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเมืองพัทยา      การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนาจอมเทียน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการสายสื่อสารในเมืองพัทยา เข้าร่วมประชุมรับทราบแนวทางในการดำเนินการในการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ฯ ณ ห้องประชุม 251 ศาลาว่าการเมืองพัทยา
เนื่องด้วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีแผนดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 (เมืองพัทยา) ระหว่างปีงบประมาณ 2560 – 2564 เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการจ่ายกระแสไฟฟ้าและก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม รวมถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ด้วยการนำระบบการจ่ายไฟฟ้าจากระบบเหนือดิน (Overhead Line) ลงใต้ดิน (Underground System) โดยมีพื้นที่นำร่องในระยะแรกได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา หาดใหญ่ และเมืองพัทยา
สำหรับการการประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าใต้ดินแหลมบาลีฮาย ซึ่งมีระยะทาง 590 เมตร ได้ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนการวางท่อ เหลือในส่วนของการนำสายไฟลงดิน ทั้งนี้จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 พร้อมปรับคืนสภาพผิวการจราจรให้กับทางเมืองพัทยา นอกจากนี้การประปาส่วนภูมิภาค ได้มีการชี้แจงในเรื่องการวางท่อส่งน้ำเพื่อเสริมแรงดันเข้าไปในพื้นที่พัทยาเหนือ บริเวณถนนพัทยาเหนือถึงวงเวียนปลาโลมา โดยได้ดำเนินการตามแผนงานของการไฟฟ้าฯ ไปพร้อมกันเพราะหากดำเนินการภายหลังก็จะทำให้ด้วยความยุ่งยากได้
ในส่วนของการไฟฟ้าฯ จะดำเนินการปลดเสาไฟเส้นพัทยาเหนือทั้ง 2 ข้างออกในช่วงเดือนธันวาคมนี้ โดยแบ่งระบบแรงดัน 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ 115 KV บริเวณใต้ผิวจราจร ตั้งแต่ปากทางสุขุมวิทพัทยาเหนือ (ฝั่งขาเข้าชิดเกาะกลางถนน จนถึง ห้างสรรพสินค้าทอร์มินอล21 ระยะทาง 1,800 เมตร โดยดำเนินการ 240 วัน และปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเหนือดิน  22 เควี เป็นระบบจำหน่ายไฟฟ้าเคเบิ้ลใต้ดิน บริเวณถนนพัทยาสาย 2  ตั้งแต่ โรงแรมไซม่อน พาเลส (Simon Place)จนถึงแยกวงเวียนปลาโลมา
ทั้งนี้ได้มีการวางแผนการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนเอาไว้เรียบร้อย โดยในที่ประชุมเป็นกังวลในเรื่องของการนำเอาสายสื่อสารทั้งหมดลงดิน พบว่าในส่วนของบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)(CAT)และบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)(TOT)ยังไม่มีการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ ซึ่งผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีและสายสื่อสารไม่สามารถวางท่อเองได้ เนื่องจากต้องใช้ทุนค่อนข้างสูง ซึ่งผู้ประกอบการสายสื่อสารสามารถทำได้คือการเช่าท่อของบริษัทเจ้าภาพเท่านั้นที่ประชุมจึงมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้และส่วนใดที่ยังคงติดปัญหาให้นำเสนอที่ประชุมเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขต่อไป

Last modified: 11 กันยายน 2017