นายกเมืองพัทยาลงพื้นที่ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชายหาดพัทยา
วันนี้ (3 ต.ค. 62) เวลา 11.30 น. นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ลงพื้นที่การดำเนินงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชายหาดพัทยา โดยมีนายพัฒนา บุญสวัสดิ์ นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายไพรวัลย์ อารมณ์ชื่น ที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา นายภูมิพิพัฒน์ กมลนาถ เลขานุการนายกเมืองพัทยา นายวรพต พงษ์พาลี นายเฉลิมพล ผลลูกอินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา นายอนุวัตร ทองคำ ผู้อำนวยการสำนักการช่างสุขาภิบาล และหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนบริษัทผู้รับจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามคืบหน้าการดำเนินงานการก่อสร้างโครงการฯ ครั้งนี้ ณ บริเวณชายหาดพัทยา
ตามที่เมืองพัทยาอนุมัติงบประมาณเดินหน้าดำเนินก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชายหาดพัทยา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณชายหาด โดยว่าจ้างบริษัทแอล บี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีสัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2562 – 13 กุมภาพันธ์ 2563 ระยะเวลา 240 วัน เพื่อก่อสร้างรางระบายน้ำ คสล. ขนาดกว้าง 0.45 เมตรและขนาดกว้าง 0.85 เมตร พร้อมฝาเหล็กหล่อ ความยาวไม่น้อยกว่า 2,800 เมตร และบ่อพักระบายน้ำ คสล. จำนวนไม่น้อยกว่า 85 บ่อ พร้อมก่อสร้างวางท่อ HDPE ขนาด 1,800 มิลลิเมตร (ภายใน) SN4 ความยาวรวมบ่อพักระบายน้ำไม่น้อยกว่า 1,959 เมตร ก่อสร้างวาง BOX CULVERT ขนาด 1.80 x 1.80 เมตรความยาวรวมบ่อพักระบายน้ำไม่น้อยกว่า 750 เมตร ก่อสร้างผิวจราจร คสล. ขนาดกว้างประมาณ 1.65 – 2.05 เมตร ความหนาเฉลี่ย 0.20 เมตร ความยาวรวมประมาณ 2,700 เมตร คิดเป็นพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,212 ตารางเมตร พร้อมก่อสร้างและติดตั้งประตูระบายน้ำ ชุดมอเตอร์เปิดปิด จำนวนไม่น้อยกว่า 2 จุด โดยเริ่มดำเนินก่อสร้างโครงการฯ ตั้งแต่บริเวณโค้งโรงแรมดุสิตธานีพัทยา ตลอดแนวชายหาดพัทยาและสิ้นสุดโครงการฯ ที่ปากทางวอล์คกิ้งสตรีท
จากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินงานไปได้ 15 – 20% (งวดที่ 1) ซึ่งดำเนินงานเป็นไปตามงวดงาน โดยคาดว่าหลังจากวันนี้ (3 ต.ค.2562) ไปอีก 2 สัปดาห์ จะคืนผิวการจราจรถนนสายชายหาดพัทยา ช่วง ซอย 13/3 ถึง ซอย 13 เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้สัญจรไปมาได้สะดวก ระหว่างนี้บางจุดที่ยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ (บริเวณก่อนถึงปากทางวอล์คกิ้งสตรีท) เนื่องจากมีตู้ไฟแรงสูง ขนาด 2 หมื่นโวลท์ และเป็นแหล่งชุมชนมีประชาชนใช้รถใช้ถนนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องรอการไฟฟ้าดำเนินเคลื่อนย้ายตู้ไฟก่อน จึงจะดำเนินงานก่อสร้างได้
ในการนี้นายกเมืองพัทยาเล็งเห็นถึงความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว จึงได้มอบหมายเจ้าหน้าที่สำนักการช่างสุขาภิบาลเร่งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเมืองพัทยา การประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา (ชั้นพิเศษ) ระบบสายสื่อสารต่างๆ ดำเนินงานไปพร้อมๆกันและเป็นไปตามงวดงานที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อร่วมกันบูรณาการระบบสาธารณูปโภคของเมืองพัทยาให้มีความสะดวกสบาย และสามารถรองรับการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อไป..
Last modified: 18 มิถุนายน 2020