Pattaya City

ข้อควรรู้ เกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน

ข้อควรรู้ เกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน
บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารราชการที่คนไทยทุกคนต้องพกติดตัวไว้ เพราะนอกจากจะใช้เป็นหลักฐานในการแสดงตนแล้ว ก็ยังใช้ในการขอรับบริการหรือติดต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการประกอบธุรกรรมต่าง ๆ
คุณสมบัติของผู้ที่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน

  1. มีสัญชาติไทย
  2. ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)
  3. มีอายุตั้งแต่ 7 ปี บริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ (อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี จะขอทำบัตรประชาชนก็สามารถทำได้)

ทำบัตรประชาชนใหม่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง
-กรณีทำบัตรประชาชนครั้งแรก เมื่อมีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนภายใน 60 วัน (ไม่เสียค่าธรรมเนียม) หากพ้นกำหนดจะเสียค่าปรับ ไม่เกิน 100 บาท โดยใช้เอกสารดังนี้

  1. สูติบัตร (ฉบับจริง) หรือหลักฐานอื่นที่ราชการออกให้ เช่น ใบสุทธิ สำเนาทะเบียนนักเรียน หนังสือเดินทาง เป็นต้น เพื่อแสดงว่าเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีชื่อในทะเบียนบ้าน
  2. หากเคยเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ต้องนำใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อมาแสดงด้วย
  3. หากไม่มีเอกสารตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้าน หรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
  4. กรณีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ให้นำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดา-มารดามาแสดงด้วย หรือนำใบมรณบัตรของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ถึงแก่กรรมไปแสดง
  • กรณีบัตรเดิมหมดอายุ
    ต้องยื่นคำร้องขอทำบัตรประชาชนใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ ทำได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่หากพ้นกำหนดจะเสียค่าปรับ ไม่เกิน 100 บาท โดยนำเอกสารหลักฐานเหล่านี้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่
  1. บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่หมดอายุ
  2. หากบัตรเดิมหมดอายุเป็นเวลานาน ต้องนำเจ้าบ้านหรือพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือมารับรองด้วย
    *สามารถทำบัตรใหม่ก่อนจะหมดอายุได้ 60 วัน

-กรณีบัตรหาย หรือถูกทำลาย
เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนหาย ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก็สามารถทำบัตรประชาชนใหม่ได้เลย เพราะเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ออกบัตรใหม่ให้แล้ว บัตรเดิมที่สูญหายจะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติทันที ทั้งนี้ต้องยื่นคำร้องขอทำบัตรใหม่ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่บัตรหาย หากพ้นกำหนดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท โดยใช้หลักฐานคือ

  1. เอกสารที่มีรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรใหม่ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบอนุญาตขับขี่ หลักฐานการศึกษา หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น
  2. หากไม่มีหลักฐานตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
  • เสียค่าธรรมเนียมการออกบัตรใหม่ 100 บาท
    อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ต้องแจ้งความก็สามารถทำบัตรใหม่ได้ แต่เพื่อความปลอดภัยและเป็นการป้องกันมิจฉาชีพนำบัตรประชาชนที่ทำหายไปใช้ในทางที่ไม่ดี เราสามารถไปขอลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ได้

สามารถไปยื่นเรื่องขอทำบัตรใหม่ นอกเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัยได้ ณ สถานที่ต่อไปนี้ สถานที่ราชการ เช่น สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง หน่วยบริการจัดทำบัตรเคลื่อนที่ของกรมการปกครองสำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนคนไทยในต่างประเทศสามารถขอทำบัตรประชาชนได้ ณ สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ ในวัน-เวลาราชการ

Last modified: 18 กุมภาพันธ์ 2020