ช่วยกันลดมลภาวะฝุ่น เริ่มนับหนึ่งจากตัวเรา สามารถลดการสะสมของฝุ่นละอองได้
ฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน? ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่ลอยขึ้นไปรวมตัวกันในอากาศเป็นจำนวนมากในช่วงกลางคืน ก่อนที่จะถูกลมพัดฟุ้งกระจายจางหายไปรวมกันอยู่ในอากาศ แต่หากวันไหนอากาศนิ่ง ไม่มีลมพัด ก็จะทำให้ฝุ่น PM 2.5 ไม่ฟุ้งกระจาย เกิดการสะสมของฝุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนระดับความเข้มของฝุ่นในพื้นที่นั้นๆ เข้าสู่ระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนกลายเป็นปัญหาทางมลภาวะทางอากาศนั่นเอง
โดยส่วนใหญ่ ฝุ่น PM 2.5 เกิดมาจากโรงผลิตไฟฟ้า ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ การเผาไม้ทำลายป่า เผาขยะ การเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่สมบูรณ์ ฝุ่นจากการก่อสร้าง สิ่งเหล่านี้เมื่อสะสมเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถกระจายออกไปได้ ก็ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 ไม่มีกลิ่น มีขนาดเล็กมาก ฝุ่น PM 2.5 ชนิดนี้ สามารถผ่านเข้าไปในร่างกายได้ถึงถุงลมปอด บางส่วนสามารถเล็ดรอดผ่านผนังถุงลม ปอด เข้าไปในเส้นเลือดฝอยล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกาย จะกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออก ซิแดนท์ รบกวนสมดุลต่างๆ ของร่างกาย และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบ ซึ่งมีอันตรายต่อเนื้อเยื่อในร่างกาย และส่งผลกระทบต่างๆ ตามมาส่งผลให้เป็น โรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง
ถึงเวลาแล้ว ที่เราควรช่วยกันลดมลภาวะฝุ่น โดยเริ่มจากตัวเรา ก็จะสามารถลดการสะสมของฝุ่นละอองได้ ด้วยวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 ที่ทุกคนสามารถทำได้ คือ
- ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หลีกเลี่ยงการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม การเผาขยะ หรือวัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
- ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด
- ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือที่ที่ฝุ่นน้อย และไม่ควรใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในป้องกันอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 เช่น วิตามินซี ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันร่างกายลดปัญหาจากภูมิแพ้ต่อระบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารต้านการอักเสบ ช่วยป้องกันความเสื่อมของร่างกายจากการได้รับฝุ่นละออง PM 2.5
- ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่จำเป็นต้องออกข้างนอกบ้าน หรือที่โล่งแจ้ง แนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยชนิดที่เรียกว่า “เอ็นเก้าห้า (N95)” โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจเรื้อรัง เพราะสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ดี
เราสามารถช่วยกันแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ พร้อมใจเดินหน้าแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคนควรร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหา ด้วยการลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เท่านี้เราก็จะช่วยลดมลภาวะของฝุ่น สร้างสิ่งแวดล้อมให้สวยงาม น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณแหล่งที่มา : honestdocs

Last modified: 18 กุมภาพันธ์ 2020