Pattaya City

รองนายกเมืองพัทยาลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรการเปิดให้บริการศูนย์การค้าในพื้นที่พัทยา ด้วยรูปแบบความปกติใหม่ (New Normal) และการสแกน QR Code ใน www.ไทยชนะ.com ควบคุมปริมาณการใช้บริการ หลังปลดล็อคดาวน์จากโควิด-๑๙

รองนายกเมืองพัทยาลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรการเปิดให้บริการศูนย์การค้าในพื้นที่พัทยา ด้วยรูปแบบความปกติใหม่ (New Normal) และการสแกน QR Code ใน www.ไทยชนะ.com ควบคุมปริมาณการใช้บริการ หลังปลดล็อคดาวน์จากโควิด-๑๙

วันนี้ (๑๗ พ.ค.๖๓) นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา ลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยการเปิดให้บริการของศูนย์การค้าในพื้นที่เมืองพัทยา๒ แห่ง คือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลพัทยา บีช และศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ พัทยา หลังปลดล็อคดาวน์ตามมาตรการสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตราชอาณาจักร โดยกำหนดเวลาเปิด-ปิดห้าง 10.00-20.00 น. พร้อมต้องทำตามรูปแบบ “ความปกติใหม่” (New Normal) และการสแกน QR Code ช่วยดูความหนาแน่นคนในร้านที่ www.ไทยชนะ.com โดยมีนายรัตนชัย สุทธิเดชานัย ผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาฝ่ายการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม นางปิ่นนาถ เจริญผล ผอ.ททท.สำนักงานพัทยา นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ แล้วนั้น ด้วยเป็นการสมควรผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – ๑๙ เพิ่มเติมจากที่เคยผ่อนคลายไว้แล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด – ๑๙) ได้รายงานผลการประเมินสถานการณ์ และการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายผู้ประกอบการ และฝ่ายผู้บริโภค ประกอบกับฝ่ายสาธารณสุขได้เสนอว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันและสถิติผู้เสียชีวิตในประเทศนับแต่ต้นเดือนพฤษภาคม อันเป็นระยะเวลาที่ประกาศใช้กำหนด (ฉบับที่ ๔) (ฉบับที่ ๕) และ (ฉบับที่ ๖) เป็นต้นมา ลดลงหรืออยู่ในระดับที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 7) ประกาศ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ข้อ ๓ การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรบางอย่างได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกของประชาชนและขับเคลื่อนกิจกรรมบางอย่าง ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดรวมทั้งการจัดระเบียบและระบบต่างๆ ให้สถานที่หรือการดำเนินกิจกรรมที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเคยมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ และตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ สามารถเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างเพิ่มเติมได้ทั่วราชอาณาจักรตามความสมัครใจและความพร้อม (1) กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ข. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการเพิ่มเติมได้ในส่วนที่เป็นการจำหน่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและการให้บริการ รวมทั้งร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม (ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน) ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผมหรือทำเล็บ ยกเว้นส่วนที่เป็นโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง ตู้เกมส์ เครื่องเล่นหยอดเหรียญ สถานที่เล่นสเก็ตหรือโรลเลอร์เบรตหรือการละเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน คาราโอเกะ สวนสนุก สวนน้ำ สวนสัตว์ สนุกเกอร์ บิลเลียด ร้านเกมส์ สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า สถาบันกวดวิชา สนามพระเครื่อง ศูนย์ประชุม ทั้งนี้พื้นที่และกิจกรรมที่เปิดดำเนินการได้ให้งดเว้นการจัดการแข่งขัน กิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือการดำเนินการอื่นใดที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมาชุมนุมกันหนาแน่น และให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การเปิดบริการต้องมีมาตรการดูแลพนักงานและผู้เข้าใช้บริการอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดระลอก 2 ตามมาตรการที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดไว้ ทั้งเจ้าของธุรกิจ ผู้ใช้บริการ และพนักงานต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เป็น “ความปกติใหม่” (New Normal) รวม 12 ข้อดังนี้
1.วัดอุณหภูมิร่างกาย โดยผู้ประกอบกิจการ ต้องคัดกรองพนักงานและผู้ซื้อ ผู้ใช้บริการ ก่อนเข้าใช้บริการ หากตรวจพบว่าพนักงานและผู้ใช้บริการมีอุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีไข้ ไอ จาม ควรให้ไปพบแพทย์
2.ต้องสวมหน้ากากอนามัย ทั้งพนักงานและผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
3.ต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
4.ต้องจัดให้มีที่ล้างมือ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ให้บริการแก่พนักงาน และผู้ใช้บริการอย่างเพียงพอ
5.ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเคาน์เตอร์ แป้นพิมพ์ชำระเงิน จุดวางสินค้าเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หรือทุกรอบที่เปลี่ยนพนักงาน
6.คัดแยกตะกร้าและรถเข็นใส่สินค้า โดยทำความสะอาดก่อนนำมาให้บริการ
7.การจัดวางสินค้า ให้จัดแยกเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกัน สินค้าประเภทอาหารปรุงสำเร็จจัดเก็บในภาชนะที่มีการปกปิดมิดชิด และเหมาะสมกับอาหาร มีอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บอาหารที่ต้องควบคุมอุณหภูมิอาหารตลอดเวลา
8.มาตรการเข้มสำหรับผู้สัมผัสอาหาร ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมใส่หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่ และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังการปฏิบัติงาน ใช้อุปกรณ์หยิบ จับ หรือตักอาหาร โดยแยกระหว่างอาหารสุก อาหารดิบ ผัก และผลไม้ ไม่วางอาหารทุกประเภท บนพื้นโดยตรง
9.ห้ามผู้ซื้อใช้มือเลือกอาหาร ทั้งอาหารสด อาหารปรุงสำเร็จพร้อมบริโภคโดยตรง
10.พนักงานจัดเก็บขยะและพนักงานทำความสะอาดต้องมีอุปกรณ์ ชุดป้องกันเต็มที่ ทั้งการสวมถุงมือยาง ผ้ายางกันเปื้อน รองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง ใช้ปากคีมด้ามยาวเก็บขยะ และใส่ถุงขยะปิดปากถุงให้มิดชิด ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังปฏิบัติงาน การจัดการขยะที่ถูกหลักสุขาภิบาล การทำความสะอาดห้องน้ำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสุขอนามัยที่ดี
11.ใช้เวลาในร้าน ห้างให้น้อยที่สุด ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ควรวางแผนในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เพื่อความรวดเร็ว ลดระยะเวลาที่ใช้บริการ
12.เว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com ช่วยควบคุมจำนวนคนใช้บริการ ที่รัฐสร้างแพลตฟอร์มให้ร้านค้าใช้ เพื่อลงทะเบียน กรอกข้อมูล เช่น ชื่อกิจการ จำนวนลูกค้าที่รองรับได้ เป็นต้น และนำ QR Code ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการสแกน เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณคนไม่ให้เข้ามาใช้บริการหนาแน่นเกินไป ซึ่งหลักการใช้งานไทยชนะแยกการใช้งานเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือ ร้านค้าที่เข้าไปลงทะเบียนในเว็บไซต์ไทยชนะ จากนั้นจะได้คิวอาร์โค้ดมาเพื่อติดไว้ที่หน้าร้านให้ลูกค้าสแกนก่อนเข้าใช้บริการที่ร้าน
กลุ่มที่ 2 สำหรับผู้ใช้บริการ เมื่อจะเข้าร้านค้าให้เปิดกล้องโทรศัพท์มือถือจากนั้นสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเช็คอิน จากนั้นกรอกหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อบันทึกข้อมูลว่าลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านดังกล่าวในช่วงเวลาใด รวมถึงบันทึกจำนวนผู้ที่ใช้บริการร้านค้าในขณะนั้นด้วยเพื่อจำกัดปริมาณผู้ใช้บริการไม่ให้เกิดความแออัด และเมื่อใช้บริการเสร็จ ลูกค้าก็จะสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อออกจากร้าน

ทั้งนี้ ระบบดังกล่าว หากพบว่าลูกค้าติดเชื้อไวรัส COVID-19 กรมควบคุมโรคจะสามารถนำเบอร์โทรศัพท์ไปตรวจสอบว่า ลูกค้าที่ติดเชื้อนั้นเดินทางไปจุดใดบ้าง เมื่อทราบจุดที่เช็คอิน ก็จะตรวจสอบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีบุคคลใดที่อยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อหรือไม่ โดยผู้ที่ใช้บริการร้านค้าเดียวกันจะได้รับ SMS แจ้งเตือนหรือเจ้าหน้าที่โทรศัพท์เพื่อแจ้งว่ามีความเสี่ยงในการสัมผัสโรค และเมื่อได้รับโทรศัพท์สามารถไปตรวจคัดกรองโรคไวรัส COVID-19 ได้ทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไม่มีโทรศัพท์ที่สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดได้ ก็ยังสามารถใช้บริการที่ร้านค้าได้ โดยทางร้านค้าจะต้องขอชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ด้วยเพื่อสะดวกต่อการแจ้งข้อมูลหากติดเชื้อหรือใช้บริการเวลาเดียวกับที่มีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19

สำหรับศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยาบีช และศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พัทยา นั้น เปิดให้บริการวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา ๑๑.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. วันศุกร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๑๐.๐๐-๒๐.๐๐ น. โดยศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยาบีช สามารถรองรับผู้มาใช้บริการ 1 คนต่อ 5 ตร.ม. จำนวน 26,300 คน พร้อมคุมเข้มมาตรการ “เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ” อย่างต่อเนื่อง รณรงค์ให้ทุกคนมีวินัยในการใช้ชีวิตแบบ New Normal ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอลล์ และสแกนเข้า-ออกจากศูนย์การค้าด้วยแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” หรือ LINE @centralLife หรือแอพพลิเคชั่น The ๑ โดยแนะนำให้ลูกค้าใช้เวลาไม่เกิน ๒ ชั่วโมงภายในศูนย์การค้า พร้อมขับเคลื่อน ช่วยเหลือให้ฝ่าฟันอยู่รอดไปด้วยกันทั้งระบบ ส่วนศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 พัทยา จำนวนผู้เข้าให้บริการไม่เกิน 15,000 คน ต่อวัน พร้อมมีมาตรการคุมเข้ม Together New Shopping Experience มาตรการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัย…เพียงแค่นี้ก็ทำให้ไปห้างสรรพสินค้า ช้อปปิ้งได้ปลอดภัย และช่วยกันสกัด ไม่ให้โควิด-19 มีโอกาสกลับมาได้อีก

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3393036297373757&id=259115847432500

Last modified: 18 มิถุนายน 2020