กรมควบคุมโรค แนะประชาชนร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในช่วงหน้าฝน ป้องกันโรคติดต่อ โดยยึดหลัก ปราบยุงลายใช้ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนและทุกภาคส่วน ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในช่วงหน้าฝน เพื่อร่วมกันป้องกันโรคติดต่อจากยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา โดยเฉพาะในพื้นที่โรงเรียนที่กำลังจะเปิดเทอม และขอให้ยึดหลัก ปราบยุงลายใช้ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ
สำหรับโรคติดต่อนำโดยยุงลายที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ซึ่งโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการของโรคจะมี 3 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นไข้สูงเฉียบพลัน 38-41 องศา และสูงลอยเกิน 2 วัน ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน อาจมีผื่น หน้าแดง ปวดท้อง หรือท้องเสีย มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด แต่มักจะไม่มีน้ำมูกและไม่ไอ ใช้เวลา 2-7 วัน แล้วเข้าสู่ระยะต่อไป ระยะที่สอง หากมีภาวะช็อกจะมีอาการมือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วกระสับกระส่าย ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะออกน้อย ถ้าเป็นเด็กเล็กจะสังเกตได้จากเด็กอาจซึมลง ทานอาหารได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดอาการในช่วงที่หมอให้กลับมารักษาตัวที่บ้าน หากกลับไปพบหมอช้าก็อาจจะเกิดอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้ แต่หากไม่มีอาการช็อกในระยะที่สองนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องกลับไปหาหมอ คนไข้จะค่อยๆ หายเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ชีพจรเต้นดีขึ้น กินข้าวได้ ปัสสาวะดี อุณหภูมิกลับมาเป็นปกติที่ 37 องศา ก็แสดงว่าหายเป็นปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาคืออายุ 15-24 ปี และอายุแรกเกิด – 4 ปี ตามลําดับ
ในการนี้ ขอให้ประชาชนและทุกภาคส่วน ร่วมดำเนินตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้
1.เก็บบ้านให้สะอาด
2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำและนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา โดยเฉพาะในพื้นที่โรงเรียนที่กำลังจะเปิดเทอม ขอให้ครู เจ้าหน้าที่โรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. และประชาชน ร่วมกันทำความสะอาดโรงเรียน กำจัดขยะ ทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดโปร่ง พร้อมทั้งสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนทุกสัปดาห์จนเปิดภาคเรียน
ยุงลายเป็นยุงรักความสะอาด ชอบพักอาศัยอยู่ใกล้ตัวคน เช่น ในบ้าน รอบบ้าน ชอบวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำใสนิ่ง ในกาบไม้ที่มีน้ำขังได้ ยุงลายไม่ชอบน้ำเน่าเสีย เช่น ท่อระบายน้ำหรือบ่อน้ำขนาดใหญ่ซึ่งที่เหล่านั้นยุงรำคาญจะชอบ ยุงลายตัวเมียหนึ่งตัว ไข่ได้ถึง 100 ฟอง ใช้เวลาเพียง 7-10 วัน จากไข่ก็จะเจริญเติบโตเป็นยุงตัวแก่ได้ถึง 100 ตัว และยุงลายตัวเมียหนึ่งตัวไข่ได้หลายรอบ จึงจำเป็นที่จะต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ ยุงลายออกหากินในเวลากลางวัน แต่ถ้าไม่ได้กินเลือดหรือกินไม่อิ่ม ก็จะออกหากินในเวลากลางคืนได้เช่นกัน ลดความเสี่ยงโดยป้องกันการเกิดโรคได้ด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อไม่ให้ยุงเกิด หรือตัดวงจรการเกิดยุงด้วยการกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ เช่น กำจัดขยะ ภาชนะเก็บน้ำควรมีฝาปิด เปลี่ยนน้ำในแจกันหรือจานรองกระถางต้นไม้ นอกจากนี้ ต้องป้องกันยุงกัด โดยหลีกเลี่ยงไปในบริเวณที่ยุงชุกชุม ถ้าอยู่ในบริเวณที่ยุงชุกชุม ให้ทายากันยุงหรือใส่เสื้อแขนยาว ขายาว ควรนอนในห้องที่ติดมุ้งลวดหรือกางมุ้ง
ในการลดความรุนแรงของโรค โดยไม่ไปหาซื้อยากินเองเมื่อมีอาการไข้และสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก เพราะการกินยาแก้ไข้แก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ที่ร้านยาจ่ายให้ เช่น ยาไอบรูโปรเฟน บรูเฟน โดยยังไม่ได้ทำการวินิจฉัยโรค ทำให้เสี่ยงต่อการทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่าย และทำให้แพทย์รักษาได้ยากขึ้น เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ฉะนั้นหากมีอาการคล้ายจะเป็นไข้เลือดออกดังข้างต้นคือ ไข้เฉียบพลัน ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน อ่อนเพลีย อาจมีผื่น หน้าแดง หรือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ให้รีบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาต่อไป สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=13448&deptcode=brc&news_views=1447

Last modified: 14 กรกฎาคม 2020