Pattaya City

นายกเมืองพัทยา แถลงข่าวมุ่งมั่นพัฒนาพัทยา ด้วยคอนเซปท์ NEO PATTAYA พัทยาโฉมใหม่ ก้าวไกลไม่ทิ้งกัน เดินหน้าก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เต็มรูปแบบ

นายกเมืองพัทยา แถลงข่าวมุ่งมั่นพัฒนาพัทยา ด้วยคอนเซปท์ NEO PATTAYA พัทยาโฉมใหม่ ก้าวไกลไม่ทิ้งกัน เดินหน้าก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เต็มรูปแบบ

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 62 เวลา 13.30 น. นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นประธานงานแถลงข่าวผลงาน 1 ปี หลังจากได้รับการแต่งตั้ง ประกาศปรับแนวบริหารให้สอดรับกับ EEC โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพิ่มความเชื่อมั่น พัฒนาพัทยาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ พัฒนาเมืองพัทยาให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม โดยมี ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมแถลงและบรรยายสรุปเกี่ยวกับ Pattaya Smart City ,พัทยาศูนย์กลางการประชุมการแสดงสินค้า , โครงการศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งมีคณะผู้บริหารเมืองพัทยา คณะที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา เลขานุการ/ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ – เอกชน ผู้แทนชุมชน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานแถลงข่าวฯ เป็นจำนวนมาก ณ ห้องประชุมทัพพระยา ศาลาว่าการเมืองพัทยา

นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้กล่าวสรุปผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาหลังจากได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาต่างๆในพื้นที่ พร้อมการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการลงทุน ด้วยตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจเกือบล้านล้านบาท เป็นอันดับที่สองของประเทศ มีรายได้จากการท่องเที่ยวสองแสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้พัทยา-ชลบุรี ยังมีความก้าวหน้าทางสังคมเป็นที่น่าพอใจ ดังเช่น ในรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่รายงานว่า พัทยา-ชลบุรีมีระดับการพัฒนาโดยรวมอันดับหกของประเทศ เป็นอันดับสองด้านชีวิตแรงงาน และเป็นอันดับสามด้านการศึกษา เป็นต้น แต่เมืองพัทยากำลังเผชิญปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เกี่ยวกับความก้าวหน้า โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการบริหารเมือง อาทิ เรื่อง ปัญหาน้ำท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ไม่ทันต่อเหตุการณ์เมื่อมีปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องน้ำเสีย ปัญหาการจัดเก็บขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นปัญหาที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีการศึกษาและวางแผน รวมทั้งขอรับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐในการขยายระบบการบำบัดให้สามารถรองรับได้มากขึ้นในอนาคต

นายสนธยา นายกเมืองพัทยา ได้กล่าวต่อไปว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับธุรกิจในประเทศไทย ให้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจในระดับโลก เพิ่มการลงทุน เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศให้มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งในระยะแรกนั้นจะมีการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินการเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญระดับต้นๆ ของประเทศ มีสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยสนามบิน ท่าเรือ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการขนส่งสินค้าที่มากที่สุดเป็นอันดับ 22 ของโลก เหมาะแก่การพัฒนาทางการค้า การลงทุน และการจัดทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเมืองพัทยา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะต้องได้รับการพัฒนา เปลี่ยนแปลงด้านการคมนาคมขนส่ง ธุรกิจ ที่อยู่อาศัย ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต และล่าสุดได้มีการเปิดซองประมูลสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินพาณิชย์นานาชาติแห่งที่ 2 ของประเทศ ที่มีขนาดเท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้โดยสารผ่านสนามบินดังกล่าวถึงกว่า 55 ล้านคนต่อปี ส่งผลที่ดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของภาคตะวันออกและประเทศไทย ซึ่งเมืองพัทยาจะต้องวางแผนรองรับทั้งระบบคมนาคม สาธารณูปโภค และด้านอื่นๆต่อไป

นายสนธยา กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เมืองพัทยาจะพัฒนาไปสู่คอนเซปท์ NEO PATTAYA พัทยาโฉมใหม่ ก้าวไกลไม่ทิ้งกัน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานร่วมกัน ด้วยเป้าหมายในการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว สู่การเป็นเป็นอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเต็มรูปแบบ

Last modified: 18 มิถุนายน 2020